กายภาพบำบัด

IMG_20150827_162808

           กายภาพบำบัด เป็นวิชาชีพสาขาหนึ่งทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เกี่ยวข้องกับการบำบัด บรรเทาปํญหาทางร่างกายเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว การทรงท่าและอาการที่ไม่พึงประสงค์ทางกายของประชาชน อาทิเช่น ปวดร้าว ชาตามแขนขา ปวดเมื่อย บวม อ่อนแรง เป็นต้น รวมทั้งการส่งเสริม การป้องกันและการฟื้นฟูสุขภาพร่างกาย โดยใช้วิธีการทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ด้วยการออกกำลังกาย การยืดดัดดึง การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์กายภาพบำบัด โดยมีเป้าหมายให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติเดิมหรือใกล้เคียงเดิม และสามารถทำงาน มีกิจวัตรประจำวันได้อย่างเต็มที่
           วิธีการทางกายภาพบำบัด จะนำความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยา ชีวกลศาสตร์และเทคนิคการรักษากายภาพบำบัด ได้แก่ การดัด การดึง การยืด การประคบ การนวด การบริหารร่างกาย รวมทั้งการควบคุมจัดท่าทางให้ปกติ ในการบำบัด รักษา แก่ผู้ที่มีปัญหาหรือความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวกาย
ขั้นตอนการรับบริการ
           1. การสืบค้นข้อมูลและการตรวจร่างกาย
                  – สอบถามประวัติ การเกิดปัญหาที่ผู้รับบริการมาขอการบำบัดรักษา ประวัติปัจจุบันและอดีตที่จำเป็น
                  – การตรวจร่างกาย บริเวณที่เป็นและที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประเมินลักษณะการเคลื่อนไหวและ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนท่าทางในชีวิตประจำวัน
                  – การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัด คือ การบ่งบอกถึงสาเหตุของปัญหาที่ตรวจพบ ความบกพร่อง ทางกายความด้อยความสามารถและความผิดปกติในการทำงานของส่วนแขนขาหรือลำตัว
           2. การวางแผนการรักษา
                  ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับผู้รับบริการถึงปัญหาที่พบพร้อมทั้งเสนอแนวทางการรักษาและ ร่วมกันวางแผนการรักษาเพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
           3. การบำบัดรักษา
                  เทคนิคและวิธีการกายภาพบำบัดมีหลากหลาย นักกายภาพบำบัดจะทำการบำบัดรักษาตามข้อมูลที่ ได้ ตามสภาพเงื่อนไขต่างๆของผู้รับบริการแต่ละราย ให้มีประสิทธิผลดีที่สุด ทั้งนี้อาการหลัง บำบัดรักษาก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยและองค์ประกอบหลายอย่างที่แตกต่างกันไปในแต่ละราย

หลักการทางกายภาพบำบัด
                  – การตระหนักถึงการทรงท่าของร่างกายทุกอิริยาบถอย่างถูกต้อง
                  – การลดอาการเจ็บ ปวด บวม หรืออักเสบ อันไม่ใช่สาเหตุจากเชื้อโรคหรือการติดเชื้อ
                  – การบริหารข้อต่อ กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อคงสภาพหรือเพิ่มความยืดหยุ่น
                  – การออกกำลังกายเพื่อคงสภาพหรือเพิ่มความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ
เอ็นข้อต่อ

รูปแบบวิธีการกายภาพบำบัด

  • เครื่องมือและอุปกรณ์ทางกายภาพบำบัด อาทิเช่น เครื่องอัลตราซาวน์ (คลื่นเหนือเสียง)ม
  • การดัดดึงและเคลื่อนไหวข้อต่อด้วยมือหรือเครื่องดึงไฟฟ้าเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า
  • แผ่นประคบร้อนหรือแผ่นประคบเย็น
  • การนวดเพื่อการรักษาแบบตะวันตกและแบบตะวันออก
  • อุปกรณ์หรือเครื่องมือทางกายภาพบำบัดสำหรับการออกกำลังกาย
  • การออกกำลังกายและการฝึกในน้ำ ที่เรียกว่า ธาราบำบัด
  • การฝึกเทคนิคเฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางระบบประสาท
  • การบริหารกายและการออกกำลังกาย เพื่อการรักษา

ปัญหาที่พบบ่อย

  • ปวดข้อต่างๆ เช่น กระดูกสันหลังคอ กระดูกสันหลังเอว ข้อไหล่ ข้อเข่า ข้อเท้า
  • ภาวะข้อเสื่อม ข้ออักเสบ กระดูกบาง
  • ปวดกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ
  • ข้อติด เช่น ข้อไหล่ ข้อเข่า
  • หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  •  ชามือ ชาเท้า แขน ขาอ่อนแรง
  • อัมพฤกษ์ อัมพาต (ครึ่งซีกซ้าย-ขวา หรือ ครึ่งท่อนล่าง)
  • กระดูกหัก กล้ามเนื้อหรือเอ็นกล้ามเนื้อ หรือ เอ็นข้อต่อ ฉีกขาด
  • หลังการผ่าตัดหัวโจ บริเวณทรวงอก หรือช่องท้อง
  • การสูญเสียการทรงตัวขณะนิ่งและ/หรือเคลื่อนไหว
  • สมรรถภาพทางกายถดถอยหรือด้อยลงตามวัย

การออกกําลังกายเพื่อการรักษา (Therapeutic exercise)

     การออกกําลังกายเพื่อรักษา (Therapeutic exercise) เน้นปัญหาที่ตรวจพบและการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและประสาท เพื่อวางแผนรูปแบบการบริหารกายและการออกกำลังกาย ตลอดจนกำหนดวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับปํญหาในแต่ละราย และใกล้เคียงกับกิจวัตรประจำวัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางานของร่างกายให้ดีขึ้น

วัตถุประสงค์ของการออกกําลังเพื่อการรักษา (Therapeutic exercise)

  • เพื่อเพิ่มมุมของข้อต่อ (range of motion )
  • เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความอึดทน (strength and endurance)
  • เพื่อเพิ่มความสามารถในการประสานงานของกล้ามเนื้อ (coordination )
  •  เพื่อการผ่อนคลาย (relaxation)
  •  เพื่อชะลอการเสื่อมของร่างกาย (delayed degeneration)
  •  เพื่อกระตุ้นระบบประสาทในการควบคุมร่างกาย (neural motor control)

           นักกายภาพบำบัดจะวางแผนและออกรูปแบบท่าทางและความเบาหนักตามวัตถุประสงค์และข้อมูลที่ได้จากการตรวจประเมิน นำมาวิเคราะห์ปัญหาเพื่อวางเป้าหมาย โปรแกรมระยะสั้นและระยะยาว
           การบริหารกายและการออกกำลังกาย ผู้ที่มีปัญหาพึงกระทำอย่างสม่ำเสมอตามโปรแกรมที่กำหนดให้ เคร่งครัดต่อตนเองในการปฏิบัติ ซึ่งจะเห็นผลที่ดีขึ้นในช่วงระยะแรก 3 สัปดาห์ ( 9-12 ครั้ง) และต้องกระทำต่อเนื่องไปจนกว่าร่างกายปรับคืนสู่สภาพเดิม ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ( อย่างน้อย 36 ครั้ง) จึงจะเห็นแนวโน้มที่พัฒนาดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายประการของผู้รับบริการแต่ละราย

           คลินิกกายภาพบำบัดแม่ปิง ให้การบริการตามมาตรฐานวิชาชีพ ด้วยองค์ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและคำนึงถึงสภาพความจริงของผู้รับบริการเป็นรายบุคคล ซึ่งงานบริการกายภาพบำบัดมีทุกหนแห่งตามโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน หรือ องค์กร หน่วยงานราชการต่างๆที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้
อย่างไรก็ดี คลินิกกายภาพบำบัด คำนิยมว่า “ เราภูมิใจในคุณภาพที่ดีกว่า ”

n5

n3